แมลงสาบ (Cockroach)

 

แมลงสาบ (cockroach) เป็นแมลงในอันดับ Blattodea ซึ่งปัจจุบันได้มีการรวมเป็นอันดับกันเดียวกับปลวก เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง และมีวิวัฒนาการใกล้เคียงกัน พบแมลงสาบ (cockroach) ประมาณ 30 ชนิด ที่เกี่ยวข้องกับเคหสถาน และมีเพียง 3 ชนิด ที่เป็นศัตรูสำคัญในเคหะสถานของไทย แมลงสาบ (cockroach) ในบ้านเรือนจะออกหากินในเวลากลางคืน แมลงสาบ (cockroach) เป็นแมลงที่มีอยู่บนโลกมานานแล้ว เพราะมันกินอาหารได้ทุกประเภท (omnivorous) เช่น อาหารของคนและสัตว์เลี้ยง อาหารบูด ของหวาน สบู่ ยาสีฟัน เสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า กาว เส้นผม ซากพืช ซากสัตว์ เสมหะ อุจจาระ เป็นต้น

 

ชีววิทยาของแมลงสาบ (Cockroach Biology)

 

แมลงสาบ (cockroach) มีการเจริญเติบโตแบบไม่สมบูรณ์ (Incomplete metamorphosis) ประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ (egg) ระยะตัวอ่อน (nymph) และระยะตัวเต็มวัย (adult)

 

แมลงสาบเพศเมีย (female cockroach) จะวางไข่เป็นกลุ่มมีเปลือกหุ้ม เรียกว่ากระเปาะไข่หรือฝักไข่ (ootheca) มีสีน้ำตาลแดง จำนวนไข่ในฝักจะแตกต่างกันตามชนิดของแมลงสาบ

 

แมลงสาบ (cockroach) จะถ่ายมูลลงไปตามทางที่เดิน มูลของแมลงสาบมีฟีโรโมนนำทาง (Trial pheromone) และยังเป็นฟีโรโมนที่ใช้เรียกรวมกลุ่มอีกด้วย หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เวียนศีรษะ มีสารก่อภูมิแพ้อยู่ในคราบและมูลที่ตกค้าง คงอยู่นาน ระเหยสู่อากาศได้ บ่อยครั้งที่เราพบปัญหาแมลงสาบในบ้าน โรงเรียน ร้านอาหาร โรงพยาบาล คลังสินค้า สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า สถานที่ประกอบอาหารหรือสถานที่เก็บอาหาร ทั้งตัวอ่อนละตัวเต็มวัย

 

แมลงสาบอเมริกัน (American cockroach) และแมลงสาบเยอรมัน (German cockroaches) เป็นพาหะนำเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น วัณโรค อหิวาตกโรค โรคเรื้อน โรคบิด ไข้รากสาดน้อย กาฬโรค และยังเป็นพาหะนำเชื้อแบคทีเรียกว่า 30 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อสาเหตุของโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร พบเชื้อรากว่า 16 ชนิด โปรโตซัวสาเหตุของโรคหลายชนิด เชื้อไวรัสโปลิโอ และไวรัสตับอักเสบ แมลงสาบ (cockroach) ยังสามารถเป็นตัวพักอาศัยกึ่งกลาง (intermediate host) ของพยาธิตัวแบน พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือนกลม พยาธิตัวตืด และพยาธิใบไม้ เป็นต้น

 

มูล คราบ และเศษอวัยวะของแมลงสาบ (cockroach) มีสารก่อภูมิแพ้หลายชนิด มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 11 ชนิดที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งมีคุณสมบัติทนความร้อนและตกค้างคงอยู่ได้นานแม้เราจะกำจัดแมลงสาบ (cockroach) หมดสิ้นไปแล้ว สารประเภทนี้จะกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ เช่น ผื่นแดงที่ผิวหนัง น้ำตาไหล คัดจมูก จาม และทำให้เกิดอาการของโรคหืด

 

ถ้าพบเห็นแมลงสาบแม้เพียงเล็กน้อยในเวลากลางวันแสดงว่าพื้นที่นั้นมีแมลงสาบชุกชุม นอกจากนี้ยังสังเกตได้จากซากแมลงสาบที่ตายแล้ว ฝักไข่ที่ฟักแล้ว มูลรวมทั้งกลิ่นเหม็นสาบของแมลงสาบ

 

แมลงสาบที่พบบ่อยในเคหสถาน

 

แมลงสาบอเมริกัน (Perplaneta americana) เป็นแมลงสาบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในเคหสถาน ตัวสีน้ำตาลแดง มีขอบสีเหลืองบนอกปล้องแรก (pronotum) ตัวเต็มวัยยาวประมาณ 3-4 cm. เป็นแมลงสาบที่สำคัญและพบบ่อยที่สุดในเคหสถาน ออกหากินกลางคืน

 

เพศเมียวางไข่ประมาณ 15 ฟองต่อฝัก และประมาณ 10-15 ฝักตลอดอายุขัย ไข่ใช้เวลาประมาณ 45 วัน จะฟักเป็นตัว ตัวอ่อนอายุประมาณ 6-12 เดือน ตัวเต็มวัยอยู่ได้นานถึง 2 ปี

 

 

แมลงสาบเยอรมัน (Blattella germanica) เป็นแมลงสาบขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 1.5 cm. สีน้ำตาลอ่อนเหมือนสีฟางข้าว มีขีดสีดำสองเส้นพาดตามยาวบนอกปล้องแรก ไม่บินทั้งเพศผู้และเพศเมีย เป็นศัตรูสำคัญในเคหสถาน

 

เพศเมียวางไข่ประมาณ 36 ฟองต่อฝักและประมาณ 4-8 ฝัก ตลอดอายุขัย ฝักไข่จะติดอยู่ที่ปลายท้องของแม่ ใช้เวลาประมาณ 28 วัน จึงฟักเป็นตัว ตัวอ่อนอายุประมาณ 60 วัน ตัวเต็มวัยอยู่ได้นานถึง 7 เดือน

 

 

แมลงสาบแถบสีน้ำตาล (Supella longipalpa) เป็นแมลงสาบขนาดเล็ก มีขนาดประมาณ 1.1-1.4 cm. มีแถบสีน้ำตาล 2 แถบคาดที่อกปล้องแรกและส่วนท้อง เพศผู้เท่านั้นที่บินได้ ชอบอาศัยในที่แห้งกว่าแมลงสาบชนิดอื่น

 

เพศเมียวางไข่ประมาณ 14-18 ฟองต่อฝักและ 10-20 ฝักหรือประมาณ 280-360 ฟอง ตลอดอายุขัย ไข่จะฟักเป็นตัวใน 37-74 วัน ตัวอ่อนมีอายุประมาณ 55 วัน ตัวเต็มวัยอยู่ได้นาน 90-115 วัน

 

 

นอกจากนี้ยังมีแมลงสาบชนิดอื่นๆ ที่พบได้ในเคหสถานของประเทศไทยได้แก่

  • แมลงสาบออสเตรเลีย (Periplaneta australasiae)
  • แมลงสาบเอเชีย (Blattella asahinai)
  • แมลงสาบสีน้ำตาล (Periplaneta brunnea)

 

การป้องกันกำจัดแมลงสาบ

 

วิธีกล ติดมุ้งลวดกันแมลงตามประตูและหน้าต่าง อุดช่องใต้ประตู หน้าต่าง ช่องใต้อ่างล้าง ช่องว่างของท่อระบายน้ำ รักษาความสะอาดของบ้านเรือน ทำความสะอาดบริเวณที่อาหารหกเปรอะเปื้อน ไม่ทิ้งอาหารเหลือค้างในภาชนะ ใช้ถังขยะที่มีผาปิด

 

กับดักแมลงสาบ หลักสำคัญคือ ให้แมลงสาบติดกับดักแล้วออกมาไม่ได้ การใช้กับดักเหมาะสำหรับใช้สำรวจปริมาณแมลงสาบในบ้านว่ามีมากน้อยเพียงใด หรือใช้ตรวจสอบว่าการป้องกันกำจัดที่ทำไปแล้วนั้นได้ผลมากน้อยเพียงใด มักจะใช้กลิ่นหรืออาหารเป็นตัวล่อ เช่น กับดักกาวเหนียว กับดักแมลงสาบแบบลาสเวกัส เป็นต้น

 

เหยื่อพิษ บรรจุอยู่ในตลับ กล่อง หลอด หรือภาชนะที่เรียกว่าสถานีเหยื่อ เหยื่อจะผสมสารพิษในปริมาณที่ต้องการให้ออกฤทธิ์อย่างช้าๆ เพื่อให้แมลงสาบกลับไปที่รัง สำรอกและถ่ายมูลออกมาซึ่งตัวอ่อนจะกินและได้รับพิษไปด้วย สารออกฤทธิ์ที่ใช่เช่น boric acid, imidaclopid, abamectin, hydramathylnon, fipronil เป็นต้น