มอดข้าวเปลือก มอดหัวป้อม (Lesser grain borer)

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhyzopertha dominica Fabricius

อันดับ : Coleoptara

วงศ์ : Bostrichidae

 

วงจรชีวิต : มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ มีทั้งหมด 4 ระยะ คือ ระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 6-10 วัน ระยะตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 21-28 วัน ลอกคราบ 3-5 ครั้ง ระยะดักแด้ใช้เวลาประมาณ 6-8 วัน รวมระยะเวลาจากไข่เป็นตัวเต็มวัยประมาณ 1 เดือนขึ้นไป ระยะตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้นาน 5 เดือนหรือมากกว่านี้

 

รูปร่างลักษณะ : ไข่รูปรียาวสีขาว ตัวอ่อน (หนอน) มีกะโหลกแข็ง ที่อกมีขาจริง 3 คู่ ตัวสีขาวขุ่น ดักแด้ในระยะแรกจะเป็นสีขาวเมื่อใกล้ออกจากดักแด้สีจะเข้มขึ้น ตัวเต็มวัยมีรูปทรงกระบอกสีน้ำตาลเข้มปนแดง ส่วนหัวสั้น หัวงุ้มซ้อนอยู่ใต้อกปล้องแรกหันหน้าลงพื้นดิน อกปล้องแรกมีหลุมขนาดเล็กกระจายอยู่ ปีกคู่หน้ามีหลุมขนาดเล็กเรียงเป็นแถวตามความยาวปีกอย่างเป็นระเบียบ มีขนสั้นๆ ปกคลุม หนวดแบบกระบองมี 10 ปล้อง 3 ปล้องสุดท้ายขยายใหญ่

 

ลักษณะการทำลาย : ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ประมาณ 300-500 ฟอง โดยวางไข่เป็นกลุ่มตามรอยแตกบนเมล็ด ในช่องวางบนเมล็ด บนพื้นผิวส่วนที่หยาบของเมล็ด หรือวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ตามเศษผงแป้งในกองข้าว เจาะเข้าทำลายภายในเมล็ดพืช ตัวหนอนกัดกินอยู่ภายในและเข้าดักแด้ภายในเมล็ด แล้วเจาะเมล็ดออกมาเมื่อเป็นตัวเต็มวัย พบเข้าทำลายตั้งแต่ในไร่แต่พบในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่เข้าทำลายระยะหลังการเก็บเกี่ยว

 

ความสำคัญ : เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของข้าวเปลือก ข้าวสาลี ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเข้าทำลายร่วมกัน สามารถเจาะเปลือกหุ้มเมล็ดได้ รวมทั้งข้าวเปลือกซึ่งแมลงชนิดอื่นเข้าทำลายได้ยาก แพร่กระจายทั่วโลกพบมากในประเทศที่มีการปลูกข้าว ระบาดตลอดปีในประเทศเขตอบอุ่นและเขตร้อน พืชอาหารคือ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี พืชหัว มันสำหลัง ไม้แห้ง ถั่วชนิดต่างๆ แต่ไม่สามารถเจริญเติบโตในถั่วเหลืองได้