ด้วงดำ หรือ ด้วงขี้ไก่ (Darkling Beetle)

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alphitobius diaperinus (Panzer)

อันดับ : Coleoptera

วงศ์ : Tenebrionidae

 

วงจรชีวิต : เป็นแมลงปีกแข็งที่สามารถมีอายุอยู่ได้มากกว่า 12 เดือน มีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์ คือ มีระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย  เพศเมียสามารถวางไข่ได้มากกว่า 2,000 ฟองตลอดอายุขัย โดยจะวางไข่ทุกๆ 2-3 วัน ไข่มักถูกวางไว้ในมูลสัตว์ หรือ พื้นที่เก็บธัญพืช หรือตามวัสดุรองพื้นโรงเรือน ตัวอ่อนจะฟักจากไข่ภายในหนึ่งสัปดาห์ และใช้เวลาประมาณ 40-100 วันในการพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย

 

รูปร่างลักษณะ : ตัวเต็มวัยจะมีขนาด 5.8 – 6.3 มิลลิเมตร มีสีดำหรือสีน้ำตาลดำ ลำตัวเป็นรูปไข่ ตัวอ่อนคล้ายหนอนนก

 

ลักษณะการทำลาย : ด้วงดำเป็นแมลงที่หากินกลางคืน ทั้งในระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัย  แหล่งอาหารมีหลากหลายชนิด เช่น มูลของไก่ เชื้อรา ขนไก่ ไข่ ซากสัตว์ปีกที่ตาย และสามารถกินไข่และตัวอ่อนของแมลงชนิดอื่นได้ด้วย นอกจากนี้ในบางภาวะด้วงดำ สามารถกินกันเองได้หากมีปริมาณประชากรมากและขาดแคลนอาหาร

 

ความสำคัญ : เป็นศัตรูตัวสำคัญในฟาร์มโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟาร์มเลี้ยงไก่ มักก่อให้เกิดปัญหาได้มากมาย เช่น นำเชื้อโรคมาสู่สัตว์ ไม่ว่าจะเชื้อ ซาลโมเนลล่า (salmonella), อีโคไล (E. coli), นิวคาสเซิล และ อื่นๆ และเป็นตัวกลางให้หนอนพยาธิบางชนิดอาศัยด้วย นอกจากนี้ยังสามารถทำลายสิ่งของและโครงสร้างที่เป็นไม้ หรือฉนวนต่างๆ ในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ พบได้ทั่วโลกแต่จะพบมากในเขตร้อน ในสถานที่ต่างๆ กัน บางชนิดกินวัตถุที่เน่าเปื่อย เป็นอาหาร โดยปกติอาศัยอยู่ตามกองปุ๋ย ปุ๋ยหมัก มูลสัตว์ และไม้ผุบางชนิด ตัวหนอนจะเจริญเติบโตได้ดีภายในความชื้นสูง หากอยู่ในสภาวะที่เหมาะจะสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ตัวเต็มวัยจะคล่องแคล่วและเคลื่อนไหวได้เร็วเมื่อถูกรบกวน

 

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lasioderma serricorne (Fabricius)

อันดับ : Coleoptara

วงศ์ : Anobiidae

 

วงจรชีวิต : มอดยาสูบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ คือ มีทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน ระยะดักแด้ ระยะตัวเต็มวัย โดยที่ระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 4-7 วันก่อนฟักเป็นตัวอ่อน ระยะตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 21-28 วัน ระยะดักแด้ใช้เวลาประมาณ 5-8 วัน ก่อนจะออกจากดักแด้เป็นตัวเต็มวัย วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 25 วัน

 

รูปร่างลักษณะ : ไข่รูปร่างรีค่อนข้างกลมสีขาว ตัวหนอนหัวกะโหลกแข็ง ที่อกมีขาจริง 3 คู่ ลำตัวโค้งงอเป็นรูปตัว C ตัวสีเหลือง มีขนอ่อนสีขาวปกคลุมอยู่ทั่วตัว ดักแด้ในช่วงแรกจะเป็นสีเหลืองพอใกล้จะออกจากดักแด้สีจะเข้มขึ้น โดยจะสร้างปลอกขึ้นเพื่อปกป้องดักแด้แล้วเข้าดักแด้ในปลอกนั้น ตัวเต็มวัยมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 2.5-3.0 มิลลิเมตร รูปไข่ หลังนูน สีน้ำตาล ส่วนหัวและอกปล้องแรกงองุ้ม และโค้งลงด้านล่าง ปีกเรียบมีขนสั้นๆ สีขาวขึ้นปกคลุมทั่วตัว หนวดเป็นแบบฟันเลื่อย ยาวประมาณครึ่งหนึ่งของลำตัว

 

ลักษณะการทำลาย : มอดยาสูบตัวเมียจะวางไข่เดี่ยวๆ บนใบยาสูบหรือพืชอาหารอื่นๆ ประมาณ 70-100 ฟองตลอดชีวิต เมื่อหนอนฟักออกจากไข่จะกัดกินใบยาจนเป็นรูพรุนหรือเป็นทางคดเคี้ยวไปมา ตัวเต็มวัยเมื่อถูกรบกวนจะหดหัวเข้าซ้อนอยู่ใต้ส่วนอก สภาพที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต คืออุณหภูมิ 30 ˚C และความชื้นสัมพัทธ์ 70% มอดยาสูบไม่ชอบอากาศหนาว ที่อุณหภูมิ 4 ˚C นาน 6 วันทำให้มอดยาสูบตาย

 

ความสำคัญ :มอดยาสูบแพร่กระจายไปทั่วโลกโดยการขนส่ง ระบาดและทำความเสียหายให้ผลผลิตทางการเกษตรในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่นตลอดทั้งปี มอดยาสูบเป็นศัตรูสำคัญที่สุดของผลิตผลเกษตรที่มีราคาแพง เช่น ใบยาสูบ บุหรี่ ซิการ์ และโกโก้ ทำให้ใบยาสูบเสื่อมคุณภาพและราคาตก นอกจากนี้ยังทำลายเมล็ดพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชได้อีกหลายชนิด เช่น เห็ดหลินจือแห้ง เห็ดหอมแห้ง มะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว มันสำปะหลังแห้ง พริกแห้ง พริกป่น พริกไทย แป้ง ผงกะหรี่ ขิงแห้ง ผลไม้แห้ง กุ้งแห้ง และอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่ เป็นต้น

 

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhyzopertha dominica Fabricius

อันดับ : Coleoptara

วงศ์ : Bostrichidae

 

วงจรชีวิต : มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ มีทั้งหมด 4 ระยะ คือ ระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 6-10 วัน ระยะตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 21-28 วัน ลอกคราบ 3-5 ครั้ง ระยะดักแด้ใช้เวลาประมาณ 6-8 วัน รวมระยะเวลาจากไข่เป็นตัวเต็มวัยประมาณ 1 เดือนขึ้นไป ระยะตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้นาน 5 เดือนหรือมากกว่านี้

 

รูปร่างลักษณะ : ไข่รูปรียาวสีขาว ตัวอ่อน (หนอน) มีกะโหลกแข็ง ที่อกมีขาจริง 3 คู่ ตัวสีขาวขุ่น ดักแด้ในระยะแรกจะเป็นสีขาวเมื่อใกล้ออกจากดักแด้สีจะเข้มขึ้น ตัวเต็มวัยมีรูปทรงกระบอกสีน้ำตาลเข้มปนแดง ส่วนหัวสั้น หัวงุ้มซ้อนอยู่ใต้อกปล้องแรกหันหน้าลงพื้นดิน อกปล้องแรกมีหลุมขนาดเล็กกระจายอยู่ ปีกคู่หน้ามีหลุมขนาดเล็กเรียงเป็นแถวตามความยาวปีกอย่างเป็นระเบียบ มีขนสั้นๆ ปกคลุม หนวดแบบกระบองมี 10 ปล้อง 3 ปล้องสุดท้ายขยายใหญ่

 

ลักษณะการทำลาย : ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ประมาณ 300-500 ฟอง โดยวางไข่เป็นกลุ่มตามรอยแตกบนเมล็ด ในช่องวางบนเมล็ด บนพื้นผิวส่วนที่หยาบของเมล็ด หรือวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ตามเศษผงแป้งในกองข้าว เจาะเข้าทำลายภายในเมล็ดพืช ตัวหนอนกัดกินอยู่ภายในและเข้าดักแด้ภายในเมล็ด แล้วเจาะเมล็ดออกมาเมื่อเป็นตัวเต็มวัย พบเข้าทำลายตั้งแต่ในไร่แต่พบในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่เข้าทำลายระยะหลังการเก็บเกี่ยว

 

ความสำคัญ : เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของข้าวเปลือก ข้าวสาลี ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเข้าทำลายร่วมกัน สามารถเจาะเปลือกหุ้มเมล็ดได้ รวมทั้งข้าวเปลือกซึ่งแมลงชนิดอื่นเข้าทำลายได้ยาก แพร่กระจายทั่วโลกพบมากในประเทศที่มีการปลูกข้าว ระบาดตลอดปีในประเทศเขตอบอุ่นและเขตร้อน พืชอาหารคือ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี พืชหัว มันสำหลัง ไม้แห้ง ถั่วชนิดต่างๆ แต่ไม่สามารถเจริญเติบโตในถั่วเหลืองได้

 

 

 

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oryzaephilus surinamensis Linnaeus

อันดับ : Coleoptara

วงศ์ : Silvanidae

 

วงจรชีวิต : มอดฟันเลื่อยมีการเจริญเติบโตทั้งหมด 4 ระคือระยะไข่ ระยะตัวอ่อน ระยะดักแด้ ระยะตัวเต็มวัย นับว่าเป็นแมลงที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ ระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน ระยะตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 14 วัน ลอกคราบ 2-5 ครั้ง ระยะดักแด้ใช้เวลาประมาณ 6-10 วัน วงจรชีวิตจากระยะไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 24-30 วัน ตัวเต็มวัยอาจอยู่ได้นาน 6-10 เดือน

 

รูปร่างลักษณะ : ไข่มีสีขาวรียาว ตัวอ่อน (หนอน) หัวกะโหลกแข็ง ส่วนอกมีขาจริง 3 คู่ ลำตัวเรียวเล็กสีขาวนวล ด้านสันหลังสีเข้มกว่าด้านท้อง ดักแด้มีลักษณะเด่นคือ ด้านข้างของส่วนอกมีรยางค์เล็กๆ ยื่นออกมาข้างละ 6 เส้น เข้าดักแด้โดยใช้เศษอาหารเป็นปลอกหุ้มตัว ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวแบนยาว ขอบด้านข้างของอกปล้องแรกมีรอยหยักยื่นอออกมาข้างละ 6 ซีก ลักษณะคล้ายฟันเลื่อย

 

ลักษณะการทำลาย : มอดฟันเลื่อยตัวเมียจะวางไข่เดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มปะปนลงในอาหารหรือตามรอยแตกของเมล็ด พบเข้าทำลายต่อจากแมลงชนิดอื่นหรือเมล็ดที่มีรอดแตกอยู่ก่อนแล้ว ไม่สามารถทำลายเมล็ดพืชให้ได้รับความเสียหายเองได้ ตัวเต็มวัยจะแทะเล็มอยู่ที่ผิวเมล็ดชอบกัดกินตรงส่วนที่จะงอกของเมล็ด (germ) สามารถกัดกินเมล็ดธัญพืชหรือธัญพืชแปรสภาพที่แตกหักได้ มอดฟันเลื่อย

 

ความสำคัญ : มอดฟันเลื่อยเป็นแมลงศัตรูสำคัญของข้าวสาร และธัญพืชที่ผ่านขบวนการ เช่น ข้าวมอลท์ ขนมปังกรอบ มักกะโรนี เส้นหมี่ พบแพร่กระจายทั่วโลก ในประเทศไทยพบแพร่กระจายทุกจังหวัด ในพื้นที่ที่มีโรงสีข้าวและยุ้งข้าว ระบาดกระจัดกระจายทั้งปี พบมากในตอนปลายปี หรือก่อนเก็บเกี่ยวข้าวนาปี โดยพืชอาหารได้แก่ เมล็ดธัญพืชทุกชนิด ข้าวสาร มะม่วงหิมพานต์ ถั่ว แป้ง เครื่องเทศ อาหารสัตว์ ยาสูบ เนื้อแห้ง และผลไม้แห้ง

 

 

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sitophilus oryzae Linnaeus

อันดับ : Coleoptara

วงศ์ : Curculionidae

 

วงจรชีวิต : ด้วงงวงข้าวมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ มีทั้งหมด 4 ระยะ คือ ระยะไข่ ใช้เวลาประมาณ 3-6 วัน ก่อนฟักเป็นตัวอ่อน ระยะตัวอ่อนเป็นหนอน ใช้เวลาประมาณ 20-30 วัน ลอกคราบ 4 ครั้ง ก่อนเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ ใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน รวมระยะเวลาจากไข่จนเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 30-40 วัน ระยะตัวเต็มวัยขนาดประมาณ 2.0-3.0 มิลลิเมตร อาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 1-2 เดือน หรือมากกว่านั้น ตัวเมียวางไข่ 300-400 ฟองตลอดอายุขัย

 

รูปร่างลักษณะ : ไข่ เป็นรูปวงรี สีขาว ตัวเต็มวัยตัวเมียจะเจาะรูที่เมล็ดพืชแล้ววางไข่รูละ 1 ฟอง หลังจากนั้นปิดรูด้วยไข ตัวอ่อน (หนอน) ตัวอ้วนป้อม ไม่มีรยางค์ที่ตัว หัวกะโหลกแข็งสีน้ำตาลเข้ม ตัวสีขาว ระยะดักแด้จะมีรยางค์ยื่นออกมาจากดักแด้ ตอนแรกจะเป็นสีขาวและสีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลดำ ที่ส่วนหัวยื่นออกมาเป็นงวง (snout หรือ rostrum)มีหนวดแบบกระบอง มีหลุมขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วอกปล้องแรก (ponotum)

 

ลักษณะการทำลาย : ตัวอ่อนจะกัดกินและเข้าดักแด้อยู่ภายในเมล็ด เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะเจาะผิวเมล็ดออกมาภายนอก เมล็ดที่ถูกด้วงงวงข้าวเข้าทำลายจะเป็นรูและข้างในเป็นโพรง เนื้อเมล็ดจะถูกหนอนกัดกินอยู่ภายใน หากมีการทำลายสูงจะเหลือแต่เปลือกไม่สามารถนำเมล็ดพืชมาบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้ ด้วงงวงข้าวไม่พบทำลายแป้ง เพราะตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตในแป้งได้

 

ความสำคัญ : ด้วงงวงข้าวสามารถบินได้ และพบเข้าทำลายตั้งแต่อยู่ในไร่และติดเข้ามากับเมล็ดสู่โรงเก็บ แม้ว่าบางครั้งทางโรงเก็บจะมีระรบป้องกันดีแต่มาก แต่ไข่และตัวอ่อนก็สามารถติดเข้ามากับเมล็ดพืชได้อยู่ดี ด้วงงวงข้าวชอบอากาศอบอุ่น จึงระบาดมากแถบเอเชียและแอฟริกา แพร่กระจายได้ไกลๆ โดยการขนส่ง ระบาดตลอดปีเพราะกินอาหารได้หลากหลาย เช่น เมล็ดธัญพืชทุกชนิดคือ ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ เดือย และเมล็ดพืชอื่นๆ โดยที่จะเข้าทำลายหนักที่สุดคือ ข้าวเปลือก ข้าวสาลี